วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

updated on:24 May 11
ผู้เขียน หรือ ผู้ให้สัมภาษณ์: 
ดร.สำรวย สังข์สะอาด
ที่มา: 
เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแห่งแรกของประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นที่แผนกวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยท่านศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ เมื่อท่านเป็นหัวหน้าแผนกวิศวกรรมไฟฟ้า (ระหว่างปี 2492 – 2506 ) ท่านอาจารย์มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล เห็นความจำเป็นของการมีห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง เพื่อรองรับการพัฒนาการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบแรงดันสูงในอนาคต
ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงนี้เริ่มตั้งขึ้น อย่างไร เมื่อไร ผู้เขียนไม่ทราบ เพราะตอนนั้นยังไม่ได้เข้ามาศึกษาในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ เมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ก็คาดว่าตั้งขึ้นประมาณปี 2498 คือมีโครงการให้ความช่วยเหลือของยูซอม สหรัฐอเมริกา ในด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งประกอบด้วย เครื่องกำเนิดแรงดันอิมพัลส์ 700 kV 8 kJ (ผลิตโดยบริษัท Philips ประเทศเนเธอร์แลนด์) รูป a) ท่านอาจารย์ได้ดำเนินการสร้างอาคารเบื้องต้น (ตึกโรเจอร์ อยู่ที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ปัจจุบัน) สำหรับตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษา ต่อมาได้ย้ายอุปกรณ์นี้ไปตั้งที่อาคารปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแบบง่าย ๆ รูป b) a) เครื่องกำเนิดแรงดันอิมพัลส์ 700 kV b) อาคารปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงเดิม (ก่อน 2504) ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแห่งแรกของประเทศไทย
a) เครื่องกำเนิดแรงดันอิมพัลส์ 700 kVb) อาคารปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงเดิม (ก่อน 2504)
ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแห่งแรกของประเทศไทย
ในช่วงกึ่งพุทธกาล ประเทศไทยเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดในด้านเศรษฐกิจและสังคมความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเกณฑ์ปกติ รัฐบาลได้วางแผนหาแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีราคาประหยัด ก็พบว่าพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำเป็นชนิดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานภาพของประเทศไทยสมัยนั้น แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทยคือเขื่อนภูมิพล (สมัยนั้นชื่อว่าเขื่อนยันฮี) ขนาด 500 MW จึงเริ่มต้นสร้างขึ้น ที่จังหวัดตาก ในปี 2504 แต่ศูนย์กลางผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งผลิต คือเขื่อนภูมิพลเป็นระยะทางไกลมากกว่า 500 กิโลเมตรเช่นนี้ จำเป็นต้องส่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นด้วยระบบสายส่งแรงสูง ซึ่งก็เป็นไปตามที่ท่านอาจารย์บุญรอดคาดการณ์ไว้ ระบบแรงดันสูงขนาด 230 kV เป็นระดับแรงดันที่เหมาะสม การนำเอาระบบแรงดันสูงระดับนี้มาใช้ในการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศ จำเป็นต้องมีการเตรียมสร้างบุคลากร วิศวกร และช่างเทคนิค ให้การศึกษา เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีนำไปดำเนินการจัดการ และพัฒนาระบบส่งจ่าย ตลอดจนการวิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา การศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาของการพัฒนาใช้ระบบแรงดันสูง จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงทำการทดสอบ นั่นคือต้องมีห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงที่มีศักยภาพเพียงพอกับระดับแรงดัน ทางแผนกฯจึงวางแผนดำ เนินการปรับปรุงห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงที่มีอยู่ ให้มีศักยภาพและสมรรถนะเพียงพอ ก้าวทันกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
การปรับปรุงนี้หมายถึง การจัดให้มีอุปกรณ์ทดสอบสำหรับห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงทีทันสมัย มีพิกัดที่สูงพอกับระดับแรงดันทดสอบตามที่มาตรฐานกำหนด ขึ้นอยู่กับระบบแรงดันใช้งาน แรงดันใช้งานในที่นี้ก็คือ 230 kV ต้องใช้งบประมาณมาก เกินกว่าที่มหาวิทยาลัยจะจัดซื้อด้วยงบประมาณแผ่นดิน เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ก็คือ การสร้างโครงการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ประเทศที่แผนกฯขอความช่วยเหลือและได้รับความช่วยเหลือตามที่ขอก็คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระบวนการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มต้นขึ้นในปี 2507 ซึ่งเป็นปีที่ศาสตราจารย์ ดร. บุญรอดบิณฑสันต์ได้ลาออกจากหัวหน้าแผนกฯ ศาสตราจารย์สุวรรณ์ แสงเพ็ชร์ เป็นหัวหน้าแผนก ฯ สืบต่อ เริ่มด้วยการสร้าง อาคารปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงหลังใหม่ ดังภาพ เพื่อใช้เป็นที่ติดตั้งอุปกรณ์ที่ได้รับความช่วยเหลือของรัฐจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อาคารปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงหลังใหม่ของแผนกวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวะฯ จุฬาฯ 2510 พร้อมสนามทดสอบกลางแจ้งข้างอาคาร
การพัฒนาห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงได้ดำเนินการตามแผน สืบสานเจตนารมณ์ของ ศาสตราจารย์ดร. บุญรอด บิณฑสันต์ ต่อไป อุปกรณ์ที่ได้รับความช่วยเหลือครั้งแรกจากรัฐบาลสวิสประกอบด้วย ชุดหม้อแปลงทดสอบ 500 kV 250 kVA และชุดเครื่องกำเนิดแรงดันอิมพัลส์ 1400 kV 16 kJ ได้ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยดังภาพ ในอาคารอาคารปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงหลังใหม่ และมีพิธีเปิดใช้งานเป็นทางการในวันที่1 สิงหาคม 2510 (วันชาติสวิส)
a)ชุดหม้อแปลงทดสอบ 500 kV 250 kVAb)ชุดเครื่องกำเนิดแรงดันอิมพัลส์ 1400 kV 16 kJ
ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแห่งแรกของประเทศไทย
การปรับปรุงห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงก้าวสำคัญครั้งแรกนั้น นอกจากมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยแล้วทางห้องปฏิบัติการ ฯ ยังได้กำหนดขอบข่ายของกิจกรรม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ
  • เพื่อการศึกษาภาคปฏิบัติการทดลอง
  • เพื่อการศึกษาวิจัย
  • เพื่อการบริการวิชาการ
นับตั้งแต่ ปี 2510 เป็นต้นมา ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแห่งนี้ มีภาระหน้าที่หนักอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาให้มีสมรรถนะเพียงพอกับความต้องการ ทางรัฐบาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของการให้ความช่วยเหลือ จึงยินดีให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกทั้งในด้านอุปกรณ์ ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก และผู้เชี่ยวชาญ รวมเป็นการให้ความช่วยเหลือถึง3 ครั้ง คือ ปี 2510, 2525, และล่าสุดในปี 2533 ดังรายละเอียดที่ผู้เขียนได้บันทึกบรรยายไว้ภายใต้ชื่อเรื่อง “ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงที่ข้าพเจ้ารักและผูกพัน” ในหนังสือ 84 ปี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวฯจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2540 หน้า 5-38—5-45
บทบาทและคุณค่าของห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สมดังที่ท่าน ศาสตราจารย์ ดร. บุญรอด บิณฑสันต์ ได้วางแผนตามวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล ในการสร้างห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงไว้ตั้งแต่ก่อนกึ่งพุทธกาลผู้เขียนได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในแผนกวิศวกรรมไฟฟ้า ปี 2504 คือ 2 ปีก่อนที่ท่านศาสตราจารย์ ดร. บุญรอดบิณฑสันต์ จะลาออกจากหัวหน้าแผนกฯ ผู้เขียนได้ทำงานในห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแหงนี้ เพื่อสืบทอดแผนและเจตนารมณ์ของท่านผู้เริ่มก่อตั้ง ปฏิบัติงานทุ่มเท ด้วยความรัก ความตั้งใจและพยายามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 35 ปี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงของคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคอุตสาหกรรม ผลงานปรากฏ ทำให้ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนในด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงและทุนการศึกษาระดับสูงจากรัฐบาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างดีและต่อเนื่อง ทางห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงได้จัดงานฉลองครบรอบ 30 ปีของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 โดยได้กราบเรียนเชิญ ท่านศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวขอบคุณรัฐบาลของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมอบของที่ระลึกแด่ ฯพณ ฯ ท่านเอกอัครราชทูตสวิสประจำประเทศไทย Ambassador. Blaise Godet ซึ่งฯพณ ฯ ท่านก็ได้กล่าวแสดงความยินดีและภาคภูมิใจที่รัฐบาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีส่วนร่วมช่วยให้ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างคุณประโยชน์นานนับประการต่อการพัฒนาประเทศไทยและขอชื่นชมในความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมของการปฏิบัติงานและใช้ประโยชน์ของห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงแหงนี้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้เขียนรู้สำนึกอยู่เสมอว่า การที่มีห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงอย่างวันนี้ได้ก็ด้วยความมีอัจฉริยะของท่านศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ปูชะนียาจารย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างสิ่งอันมีคุณค่าและความดีฝากไว้ในแผ่นดินนี้
ภาพงานฉลองครบรอบ 30 ปี ของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 ที่ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย *บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความเคารพ และระลึกถึงพระคุณ และเพื่อแสดงมุทิตาจิตแด่ ท่านศาสตราจารย์ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ 96 ปี ( กันยายน 2553)
Content maintained by (24 May 11)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น